พนักงานแฟลชติดโควิดเพียบ จนต้องปิดศูนย์กระจายสินค้า
หายนะธุรกิจขนส่ง แฟลช เอ็กซ์เพรส เจอมรสุม พนักงานติดโควิดอื้อ ต้องปิดศูนย์กระจายสินค้า ทำขนส่งล่าช้า ด้าน CEO น้อมรับความผิดพลาด ควัก 200 ล้าน ชดเชยลูกค้า
สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ในประเทศไทยตอนนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลง ทั้งเรื่องของการระบาดของโรค ผลพวงจากการล็อกดาวน์ ที่กระทบไปถึงเศรษฐกิจที่หลายคนยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบลงตรงไหน และยิ่งสถานการณ์ล่าสุดที่บริษัทขนส่ง บางแห่งต้องประกาศปิด เนื่องจากพนักงานติดโควิด และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด ก็ยิ่งสร้างความเสียหายในแง่ของธุรกิจที่กระทบกันเป็นลูกโซ่
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊ก เที่ยงวันทันเหตุการณ์ ออกมาเปิดเผยประกาศของบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด บริการขนส่งชื่อดังที่ต้องปิดศูนย์กระจายพัสดุ สาขาวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 หลังพบว่ามีพนักงานติดโควิด-19 จนกระทบระบบขนส่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง จนเกิดความเสียหายในช่วงเวลาหลายวันที่ผ่านมา
ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เฟซบุ๊ก Flash Express ได้เผยแพร่จดหมายจาก นายคมสันต์ ลีประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ส่งจดหมายจาก CEO ถึงลูกค้าแฟลช เอ็กซ์เพรส ที่แจ้งไปยังลูกค้าว่า ตนและพนักงานเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากชี้แจงว่าตนไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว ตนจึงขอดูแลและชดเชยด้วยงบประมาณมากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเสียหายจากใจจริง ตามนโยบายดังนี้
1. สำหรับผู้ส่งพัสดุ – สินค้าที่ถูกจัดส่งระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564 หากเป็นปัญหาที่พัสดุอยู่ที่ศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) (ยกเว้น ช่วงขารับและขานำส่งพัสดุ) เกินกว่า 3 วัน ทางบริษัทฯ ยินดีคืนเงินค่าขนส่ง 100%
2. หากลูกค้าปลายทางปฏิเสธการรับพัสดุเนื่องจากความล่าช้าของปัญหาจากศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ รับผิดชอบค่าตีกลับไปยังผู้ส่งต้นทาง และบริษัทฯ จะคืนเงินค่าขนส่ง 100%
3. หากผู้รับปลายทางที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการส่งล่าช้าจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้น ทางบริษัทฯ จะมอบคูปองของแฟลช เอ็กซ์เพรสมูลค่ารวม 50 บาท
4. หากพัสดุเสียหายหรือสูญหายเนื่องจากปัญหาของศูนย์กลางกระจายพัสดุ (Hub) ข้างต้นทางบริษัทฯ จะชดเชยค่าเสียหายเต็มจำนวนอย่างเร็วที่สุด (ภายใต้เงื่อนไขของบริษัทฯ ที่กำหนด)
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายละเอียดอื่นได้เพิ่มเติม ที่ www.flashexpress.co.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน แฟลชเอ็กซ์เพลส รวมถึงติดต่อทีม Customer Support
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด (23 กรกฎาคม 2564) โลกออนไลน์ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบุว่าเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นหายนะ เมื่อธุรกิจขนส่ง ส่งของไม่ได้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบตามมาคือธุรกิจขายของออนไลน์ ขายของได้ แต่ส่งไม่ได้ ทุกอย่างก็จบ