ตอบแบบชัดๆ กุ้งหัวเขียวแบบนี้ กินได้ไหมหรือควรทิ้ง
ถึงกับเหวอแกะหัวกุ้ง แต่ดันเจอหัวเขียวแบบนี้ จะทำยังไงดี ควรกินต่อหรือพอแห่นี้ ด้านชาวเน็ตแห่คอมเมนต์กินได้ไหมหรือควรทิ้ง มีคำตอบให้ มาดูกัน
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วันนี้กินไรดีวะ
กลายเป็นภาพที่สร้างความฉงนให้กับหลายคนเมื่อล่าสุด (17 สิงหาคม 2564) เฟซบุ๊ก วันนี้กินไรดีวะ ได้โพสต์ภาพกุ้งพร้อมระบุข้อความว่า “กินต่อ หรือ พอแค่นี้ ? ฝั่งซ้ายนี่คือ กุ้งมรกตเหรอ สีเขียวมันคืออะไรนะะะ” ซึ่งในภาพมีกุ้งสองตัว ตัวฝั่งซ้ายที่หัวมีลักษณะเป็นสีเขียว ส่วนฝั่งขวามีลักษณะเป็นสีส้มเหมือนกับมันกุ้งทั่ว ๆ ไป
ด้านความคิดเห็นอื่น ๆ ก็เข้ามาคอมเมนต์เช่น กุ้งที่หัวเป็นวุ้นสีดำ เกิดจากเมื่อกุ้งตายนานแล้วแบคทีเรียในตัวกุ้ง ที่กินเนื้อเยื่ออ่อนทั้งบริเวณหัว คาง เนื้อเยื่อ หาง หรือบริเวณที่มีเนื้อเยื่ออ่อนทั้งหมด อาจเกิดจากการที่ความเย็นไม่เพียงพอรึ บริเวณนั้นไม่โดนความเย็น ไม่ควรทาน หรือลองดมกลิ่นถ้าเน่าก็ควรทิ้ง
บางความคิดเห็นก็ระบุว่า ที่หัวกุ้วเป็นสีนี้เพราะเกิดจากการที่กุ้งกินสาหร่ายเข้าไปจนทำให้เกิดเป็นสีเขียวสามารถรับประทานได้ไม่เป็นอันตราย
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว เคยให้ข้อมูลไว้เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2561 เกี่ยวกับหัวกุ้งแบบนี้ว่า จากที่ลองค้นหาสาเหตุมีข้อสังเกตอยู่ 2 สาเหตุดังนี้
– อาจจะเกิดจากส่วนต่อมสร้างน้ำย่อย (hepatopancreas) ในช่วงช่องอก ซึ่งก็ถ้าเรียกตามภาษาชาวบ้านก็คือมันกุ้งที่อยู่ตรงคอพับตรงหัว ที่ติดกับตัว หลังจากที่กุ้งกินสาหร่ายที่มีสีเขียวจนอิ่มเข้าไป จนทำให้มันกุ้งที่มีสีเหลืองแกมแดงอยู่เดิมนั้นมีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ในสาหร่ายเข้าไปปะปนด้วย
ในกรณีนี้แม้เราจะทำกุ้งให้สุกหมด สีเขียวนั้นก็จะยังคงเขียวอยู่ เนื่องจากคลอโรฟิลล์ที่แฝงในหัวกุ้งนั้นจะมีสีเข้มมาก เมื่อได้รับความร้อนและละลายออกมาในไขมันในหัวกุ้งนั้น ๆ นะ
– เป็นไข่กุ้ง โดยเฉพาะกุ้งแชบ๊วยที่มีไข่สีเขียว ในกรณีนี้สีเขียวของไข่กุ้งเมื่อได้รับความร้อนแล้วจะสุกเป็นสีส้มแดงตามปกติ โดยที่ไข่กุ้งนั้นจะเรียงไปขนานกับขี้กุ้งในส่วนหาง และลามไปถึงท้องกุ้ง โดยที่ส่วนหางนั้นจะมีความหนาน้อยกว่าส่วนหัวกุ้ง ก็จะทำให้ไข่กุ้งเปลี่ยนเป็นสีแดงได้ ในขณะที่ส่วนหัวกุ้งที่มีความหนามากกว่า อาจจะทำให้กุ้งสุกไม่ถึงเนื้อใน (โดยเฉพาะการเผา) ที่ใช้ไฟลามเรียงแผ่ว ๆ แค่ภายนอกที่หัวกุ้ง จนทำให้ไข่กุ้งที่มีสีเขียวนั้น ยังไม่ทันเปลี่ยนเป็นสีแดงได้
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก วันนี้กินไรดีวะ, เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว